วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

การถนอมอาหาร

การถนอมอาหรโดยการฉายรังสี การถนอมอาหารโดยการฉายรังสี (food irradiation) เป็นวิธีการถนอมอาหารสำหรับอาหารที่ต้องการเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือการใช้ความร้อนในการควบคุมคุณภาพและการควบคุมจุลินทรีย์ รังสีที่ใช้ในการถนอมอาหารมี 3 ชนิด คือ รังสีแกมมา (gamma radiation) รังสีเอกซ์ (X-radiation) และอิเล็กตรอนกำลังสูง (high speed electron) ซึ่งเป็นรังสีชนิดที่แตกตัวได้ (ionizing radiation) ช่วงคลื่นสั้น สามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ การทำงานของเอนไซม์ และการเจริญเติบโตของไข่และตัวอ่อนของแมลงได้ ทำให้สามารถป้องกันการงอกของผักและผลไม้ โดยยังคงคุณค่าทางโภชนาการ เนื้อสัมผัส และรสชาติของอาหารได้ดี ทั้งนี้การฉายรังสีอาหารจะต้องควบคุมปริมาณรังสีให้เหมาะสมสำหรับการฆ่าเชื้อโรค หรือควบคุมคุณภาพของอาหารโดยไม่ทำให้อาหารเปลี่ยนสภาพหรือเปลี่ยนคุณสมบัติและเนื่องจากการฉายรังสีเป็นการส่งรังสีจากแหล่งกำเนิดไปยังอาหารที่วางอยู่ในระยะห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี ฉะนั้นสารกัมมันตรังสีที่ใช้ เช่น โคบอลต์-60 จะไม่ได้สัมผัสกับอาหารโดยตรง และไม่ปนเปื้อนในอาหาร มีเพียงรังสีแกมมาที่สามารถผ่านทะลุทะลวงเข้าไปทำลายเชื้อโรคในอาหาร จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สำหรับการฉายรังสีอาหารเพื่อผลิตเป็นการค้า จะต้องดำเนินการในสถานที่และใช้เครื่องมือที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และจะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2529) เรื่อง กำหนดกรรมวิธีการผลิตอาหาร ซึ่งมีการกำหนดกรรมวิธีการฉายรังสีของอาหารแต่ละชนิด เช่น แหนมฉายรังสี ให้ใช้ปริมาณรังสีโดยเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 4 กิโลเกรย์ เครื่องเทศฉายรังสี ให้ใช้รังสีในปริมาณเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ เป็นต้น อาหารที่ผ่านการฉายรังสีแล้วต้องมีฉลากแสดงข้อความและเครื่องหมายว่า ผ่านการฉายรังสี พร้อมทั้งระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี ชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้ฉายรังสี และวันเดือนปีที่ฉายรังสีด้วย ตัวอย่างอาหารที่มีการฉายรังสีในประเทศไทยได้แก่ เครื่องเทศ สมุนไพร ฝรั่ง ผลไม้ กุ้งแช่แข็ง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม
ที่มาhttp://www.vcharkarn.com/vblog/38231

ไม่มีความคิดเห็น: